เคยเป็นมั้ย ? มีแผลเป็นนูนเกิดขึ้นที่ ใบหูและดูเหมือนว่าจะมีขนาด ขยายใหญ่ขึ้นจนเห็นได้ชัด หรือในบางรายขนาด แผลนูน ก็ใหญ่พอ ๆ กับใบหู ซึ่งทางการแพทย์ จะเรียกอาการนี้ว่า โรคคีลอยด์ใบหู ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การเกิดบาดแผลที่บริเวณใบหู รวมไปจนถึงการ เจาะหู ก็เป็นต้นเหตุของการเกิดแผลเป็นนูนได้
นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้มีก้อนเนื้อคล้าย ๆ คีลอยด์บนใบหู นั่นก็คือ มะเร็ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เป็นอย่างมาก และอาการของคีลอยด์ และมะเร็ง จะแตกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น สามารถติดตามรายละเอียดได้ในบทความนี้
คีลอยด์ ที่เกิดขึ้นบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงที่บริเวณใบหูเอง ไม่ได้อันตรายร้ายแรง หรือส่งผลกระทบต่อ สุขภาพร่างกาย แต่จะส่งผลในด้านภาพลักษณ์ หรือด้านความมั่นใจมากกว่า เพราะแผลเป็นนูนคีลอยด์ เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด มองดูแล้วไม่สบายตา ไม่สวยงาม
และแผลเป็นนูน ที่บริเวณใบหูเอง ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ก็อาจจะให้เกิดการผิดรูปของใบหูได้ เนื่องจากแผลเป็น จะขยายตัวออกได้เรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตาม แผลคีลอยด์จะไม่ส่งผลกระทบต่อการได้ยิน หรือการรับรู้ของหู สามารถได้ยินเสียงได้เหมือนคนปกติทั่วไป
แผลเป็นนูน หรือ คีลอยด์ (Keloid) เป็นสภาวะผิดปกติ ของการรักษาบาดแผล ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน อายุเท่าไร และอาจจะพบว่าคนที่มีผิวคล้ำ ผิวสี หรือชาวแอฟริกัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลคีลอยด์ ได้มากกว่าคนผิวขาวมากถึง 5 เท่า
แผลนูน หรือคีลอยด์นี้จะพบเจอในหมู่วัยรุ่น มากกว่าวัยสูงอายุ ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลคีลอยด์ บริเวณใบหูนั้นจะเกิดจากการเจาะหู การระเบิดหู ที่ทำให้เกิดบาดแผล แล้วมีการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอ
หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ตนเองอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นคีลอยด์หรือไม่ สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ จากการสังเกตที่รอยที่บริเวณหัวไหล่ ซึ่งเป็นรอยที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ถ้าหากพบว่ารอยแผลนั้น เป็นแผลเป็นนูน นั่นก็แสดงว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่มีโอกาสเป็นคีลอยด์ได้สูง
และการป้องกัน การเกิดคีลอยด์ที่บริเวณใบหู สามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยง การทำให้เกิดบาดแผลที่ใบหู และคนที่มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ควรงดการเจาะหู เพราะถ้าหากดูแลบาดแผลได้ไม่ดี หรือแผลติดเชื้อ ก็ทำให้มีโอกาสเกิดคีลอยด์ ได้มากกว่าปกติ
โดยปกติแล้วคีลอยด์ ที่เกิดขึ้นบริเวณใบหู สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และเมื่อสัมผัสแล้ว จะพบว่ามีความนิ่ม สัมผัสแล้วเหมือนยางลบ ผิวบริเวณแผลเป็นนูน จะมีความเรียบ แต่ถ้าเป็นเนื้องอก หรือก้อนมะเร็ง เมื่อสัมผัสดูจะพบว่ามีความเจ็บปวด และก้อนเนื้อจะมีการเติบโต ที่รวดเร็วกว่าแผลนูนคีลอยด์ ก้อนเนื้อจะขยายใหญ่ขึ้น ภายในเวลา 1 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับแผลคีลอยด์ ที่จะต้องใช้เวลานานกว่า 1-3 เดือน ในการขยายตัว บริเวณที่เป็นก้อนเนื้อจะไม่มีอาการคัน และแตกเป็นแผลได้เอง แม้จะไม่มีการเกา มะเร็งที่ใบหูจะพบได้ในผู้สูงอายุได้มากกว่า ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น
การรักษาแผลนูนคีลอยด์ ที่ใบหูมีด้วยกันหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาจากขนาดของแผล ถ้าหากแผลเป็นนูนมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร จะใช้การรักษาด้วย วิธีการฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นการฉีดยาเข้าก้อนคีลอยด์โดยตรง หรือที่เรียกว่า Intralesional
แต่ถ้าหากขนาดแผลนูน นั้นมีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร ก็อาจจะต้องมีการรักษาด้วยการ ผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาสเตียรอยด์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะไม่แนะนำ ให้รักษาโดยการผ่าตัด เพราะเป็นการสร้างบาดแผลใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุ ที่จะทำให้เกิดคีลอยด์ขึ้นได้
แนวทางในการผ่าตัด คีลอยด์ที่เกิดขึ้นบริเวณใบหู จะทำการผ่าแบบยกผิวหนังใบหูขึ้น เพื่อให้คงรูปใบหูไว้ แล้วแพทย์จะตัดเอาเฉพาะ ก้อนคีลอยด์ออกไป จากนั้นถึงเย็บปิดแผลให้สนิท และในวันที่ตัดไหม แพทย์จะทำการฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแผล
และในกรณีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะเกิดคีลอยด์ซ้ำได้สูง กว่าคนทั่วไป อาจจะต้องผ่าตัด ร่วมกับการฉายแสง เพราะการฉายแสง จะมีส่วนช่วยในการยับยั้ง การสร้างตัวของเซลล์ โอกาสที่จะเกิด คีลอยด์ซ้ำก็น้อยลง และบางครั้งก็มีการใช้ยาไมโตซิน ในการป้องกันการเกิดคีลอยด์ซ้ำอีก การรักษาทั้งหมดแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
การเกิดแผลเป็นนูน ขนาดใหญ่ หรือคีลอยด์ ถือเป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรง ถึงขนาดที่จะสร้างอันตราย ให้ถึงแก่ชีวิตได้ แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษา ก็อาจจะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งถ้าหากติดเชื้อแล้ว จะก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าหากพบว่าบาดแผลที่เกิดขึ้น ตามร่างกายมีการขยายตัว เป็นแผลนูนที่ใหญ่กว่าแผลเดิม
ควรเข้ารับการรักษา ให้เร็วที่สุด และถ้าหากว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง ต่อการเป็นคีลอยด์ ได้สูงกว่าปกติ ก็ยิ่งต้องมีขั้นตอนการดูแลตัวเอง เมื่อเป็นแผลที่มากกว่าคนอื่น และที่สำคัญคีลอยด์ ยังเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อีกด้วย